วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

ข้อควรปฏิบัติของผู้รับการนวด

1. ควรนวดก่อน หรือ หลังอาหาร 1 ชั่วโมง
2. ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ หลังการนวด
3. อย่าให้ฝ่าเท้าถูกน้ำหรือความเย็นหลังการนวดครึ่งชั่วโมง
4. เพื่อการบำบัดและรักษา ควรนวดติดต่อกันอย่างน้อย
3 ครั้ง (3 วัน)

คุณธรรม 10 ประการ (จรรยาบรรณแพทย์)

1. มีเมตตาจิตแก่คนไข้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ
2. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน
3. มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป
4. มีความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล
5. ไม่โลภเห็นแก่ลาภของผู้ป่วยแต่ฝ่ายเดียว
6. ไม่โอ้อวดวิชาความรู้ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
7. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เผอเรอ มักง่าย
8. ไม่ลุอำนาจแก่อคติ 4 คือ ความลำเอียงด้วยความรัก
ความโกรธ ความกลัว ความหลง (โง่)
9. ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรม 8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อม
10. ไม่มีสันดานชอบความมัวเมาในหมู่อบายมุข

ไม่ควรนวดในกรณีที่

1. หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
2. ร่างกายกำลังอ่อนเพลียมาก
3. หลังดื่มสุรา หรือหลังอาบน้ำเสร็จทันที
4. มีโรคติดเชื้อ มีไข้สูง
5. หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ห้ามกดจุดใด ๆ ทั้งสิ้น
6. กระดูกเท้าหักหรือผิดรูป
7. โรคหลอดเลือด หลอดน้ำเหลืองอักเสบ/อุดตัน
8. ระหว่างมีประจำเดือน

มารยาทแห่งวิชาชีพการนวดไทย

หมอนวดไทยจักต้องมีมารยาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
ข้อ 1. ก่อนทำการนวดผู้ป่วย ควรสำรวมจิตให้เป็นสมาธิ ระลึกคุณครูอาจารย์ คารวะผู้ป่วย แล้วซักถามอาการ ตรวจวินิจฉัย (จับชีพจร นับการหายใจ ฯลฯ) แล้วจึงทำการนวดตามแบบแผน
ข้อ 2. มีจิตใจเมตตา ตั้งปณิธานที่จะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์
ข้อ 3. ควรแต่งกายให้สะอาด รัดกุม และสุภาพเรียบร้อย
ข้อ 4. ให้รักษาความสะอาดของมือ ทั้งก่อนและหลังนวด รวมทั้งรักษาความสะอาดของเครื่องมือเครื่องใช้ในการนวด
ข้อ 5. เวลานวดให้นั่งห่างจากผู้ป่วยพอสมควร เมื่อนวดข้างซ้ายควรนั่งข้างซ้าย นวดข้างขวาควรนั่งข้างขวา ไม่ควรคร่อมตัวผู้ป่วยถ้าไม่จำเป็น
ข้อ 6. อย่าหายใจรดตัวผู้ป่วย
ข้อ 7. ขณะทำการนวดผู้ป่วย ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารหรือสิ่งใดๆ
ข้อ 8. ขณะทำการนวด ควรระมัดระวังในการนวดให้เหมาะสม เช่น ไม่พูดให้ผู้ป่วยตกใจ สะเทือนใจหรือหวาดกลัว ต้องสังเกตและซักถามอาการในขณะนวดเป็นนิจ ควรหยุดนวดเมื่อผู้ป่วยบอกให้พัก
ข้อ 9. ไม่ควรนวดผู้ป่วยที่เพิ่งรับประทานอาหารมาไม่ถึง 30 นาที
ข้อ 10. ไม่รังเกียจผู้มารับการกดจุด ต้องทำให้เต็มความสามารถของตน

การกดจุด

“การกดจุดสะท้อน” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “การกดจุด” ก็คือ การใช้นิ้วมือ หรือข้อต่อกระดูกนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ซึ่งเป็นนิ้วหลักที่ใช้มากที่สุด กดลงบนฝ่าเท้า บริเวณตำแหน่งที่ส่งผลสะท้อนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
“การกดจุด” ดูคล้ายกับ “การนวดคลึง” แตกต่างกันตรงที่ การกดจุดต้องกดลึกกว่า ต้องมีความแม่นยำในเรื่องตำแหน่งของจุดสะท้อนและทำไปในทิศทางที่ถูกต้อง มิฉะนั้น กล้ามเนื้อหรืออวัยวะที่ส่งผลสะท้อนจะเกิดปัญหาได้ และต้องเลือกการกดทางใดทางหนึ่ง เช่น กดจากขวาไปซ้าย หรือลากจากซ้ายมาขวา เพื่อป้องกันลมปราณสับสน มีผลเสียต่อร่างกาย

วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

ข้อตกลงว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพการนวดไทย พ.ศ.2534

อาศัยมติแห่งความร่วมใจของมวลหมอนวดไทย เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน เพื่อให้การประกอบวิชาชีพการนวดไทย ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลปะสาขาหนึ่งของการแพทย์ แผนไทย เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของประชาชนตลอดไปและเพื่อสร้างสรรค์ ทะนุบำรุงการนวดไทยให้เจริญก้าวหน้าและอยู่ในมาตรฐานที่ดี โครงการฟื้นฟูการนวดไทยได้จัดทำ ข้อตกลง ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพการนวดไทย ซึ่งเป็นข้อพึงปฏิบัติของหมอนวดไทยทั้งมวล ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. หมอนวดไทย จักต้องยึดถือสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยและประชาชนเป็นอันดับแรกเสมอ ต้องให้บริการแก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่คำนึงถึงฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง
ข้อ 2. หมอนวดไทย จักต้องยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพการนวดไทย มารยาทแห่งวิชาชีพการนวดไทย มารยาทแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กฎหมายบ้านเมืองไม่ประพฤติร่วมกระทำใด ๆ ให้เกิดความเสื่อมเสีย และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแก้ไข เมื่อได้ทราบว่ามีการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อการนวดไทย
ข้อ 3. หมอนวดไทย จักต้องหมั่นสำรวจ สรุปประสบการณ์การนวด ศึกษาติดตามความรู้และความก้าวหน้าของวิชาการนวดไทย ทั้งจากคัมภีร์ ตำรับตำราต่าง ๆ และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งเข้าร่วมเสริมความรู้ พัฒนา ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนและเผยแพร่วิชาความรู้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการประกอบวิชาชีพ ให้อยู่ในมาตรฐาน และสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
ข้อ 4. หมอนวดไทย จักต้องไม่หลอกลวง ไม่โลภ ไม่ล่วงเกิน หรือลวนลามผู้ป่วย ด้วย กาย วาจา ใจ ทางด้านกามารมณ์ และอื่นๆ
ข้อ 5. หมอนวดไทย จักต้อง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขทั้งปวง
ข้อ 6. หมอนวดไทย จักต้อง ไม่ประกอบวิชาชีพในสภาพที่ถูกบังคับ หรืออโคจรสถาน เช่น แหล่งอบายมุข สถานบริการ สถานเริงรมย์ ที่มีการกระทำอันเป็นการยั่วยุกามารมณ์ เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินเพื่อการปฐมพยาบาล
ข้อ 7. หมอนวดไทย จักต้องยกย่องให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ไม่โอ้อวดทับถมกัน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน และผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น ๆ เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยและประชาชนร่วมกัน
ข้อ 8. หมอนวดไทย จักต้องติดต่อประสานงาน สร้างความสามัคคีในหมู่เพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน และเพื่อนในวงการสาธารณะสุขทั้งมวล เพื่อร่วมกันทำประโยชน์แก่สังคมและสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทย
ข้อ 9. หมอนวดไทย จักต้องประสานร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิชาชีพการนวดไทยและการแพทย์แผนไทยให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งอุทิศเวลา ความรู้ความสามารถ และปัจจัยต่าง ๆ เพื่อช่วยกิจกรรมขององค์กรเท่าที่พึงกระทำได้

ผลที่ได้จากการนวดฝ่าเท้า

1. ปรับอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ
2. ขับของเสียออกจากร่างกาย
3. สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านทานโรค
4. กระตุ้นอวัยวะทุกส่วนทำงานปกติ
5. ทำให้สุขภาพแข็งแรงดูอ่อนกว่าวัย
6. ทำให้เลือดลมเดินปกติ
7. ปรับการทำงานของประสาทส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
8. ป้องกันโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต
9. ปรับฮอร์โมนของร่างกายให้เป็นปกติ
10. เสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ