วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

ข้อควรปฏิบัติของผู้รับการนวด

1. ควรนวดก่อน หรือ หลังอาหาร 1 ชั่วโมง
2. ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ หลังการนวด
3. อย่าให้ฝ่าเท้าถูกน้ำหรือความเย็นหลังการนวดครึ่งชั่วโมง
4. เพื่อการบำบัดและรักษา ควรนวดติดต่อกันอย่างน้อย
3 ครั้ง (3 วัน)

คุณธรรม 10 ประการ (จรรยาบรรณแพทย์)

1. มีเมตตาจิตแก่คนไข้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ
2. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน
3. มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป
4. มีความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล
5. ไม่โลภเห็นแก่ลาภของผู้ป่วยแต่ฝ่ายเดียว
6. ไม่โอ้อวดวิชาความรู้ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
7. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เผอเรอ มักง่าย
8. ไม่ลุอำนาจแก่อคติ 4 คือ ความลำเอียงด้วยความรัก
ความโกรธ ความกลัว ความหลง (โง่)
9. ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรม 8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อม
10. ไม่มีสันดานชอบความมัวเมาในหมู่อบายมุข

ไม่ควรนวดในกรณีที่

1. หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
2. ร่างกายกำลังอ่อนเพลียมาก
3. หลังดื่มสุรา หรือหลังอาบน้ำเสร็จทันที
4. มีโรคติดเชื้อ มีไข้สูง
5. หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ห้ามกดจุดใด ๆ ทั้งสิ้น
6. กระดูกเท้าหักหรือผิดรูป
7. โรคหลอดเลือด หลอดน้ำเหลืองอักเสบ/อุดตัน
8. ระหว่างมีประจำเดือน

มารยาทแห่งวิชาชีพการนวดไทย

หมอนวดไทยจักต้องมีมารยาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
ข้อ 1. ก่อนทำการนวดผู้ป่วย ควรสำรวมจิตให้เป็นสมาธิ ระลึกคุณครูอาจารย์ คารวะผู้ป่วย แล้วซักถามอาการ ตรวจวินิจฉัย (จับชีพจร นับการหายใจ ฯลฯ) แล้วจึงทำการนวดตามแบบแผน
ข้อ 2. มีจิตใจเมตตา ตั้งปณิธานที่จะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์
ข้อ 3. ควรแต่งกายให้สะอาด รัดกุม และสุภาพเรียบร้อย
ข้อ 4. ให้รักษาความสะอาดของมือ ทั้งก่อนและหลังนวด รวมทั้งรักษาความสะอาดของเครื่องมือเครื่องใช้ในการนวด
ข้อ 5. เวลานวดให้นั่งห่างจากผู้ป่วยพอสมควร เมื่อนวดข้างซ้ายควรนั่งข้างซ้าย นวดข้างขวาควรนั่งข้างขวา ไม่ควรคร่อมตัวผู้ป่วยถ้าไม่จำเป็น
ข้อ 6. อย่าหายใจรดตัวผู้ป่วย
ข้อ 7. ขณะทำการนวดผู้ป่วย ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารหรือสิ่งใดๆ
ข้อ 8. ขณะทำการนวด ควรระมัดระวังในการนวดให้เหมาะสม เช่น ไม่พูดให้ผู้ป่วยตกใจ สะเทือนใจหรือหวาดกลัว ต้องสังเกตและซักถามอาการในขณะนวดเป็นนิจ ควรหยุดนวดเมื่อผู้ป่วยบอกให้พัก
ข้อ 9. ไม่ควรนวดผู้ป่วยที่เพิ่งรับประทานอาหารมาไม่ถึง 30 นาที
ข้อ 10. ไม่รังเกียจผู้มารับการกดจุด ต้องทำให้เต็มความสามารถของตน

การกดจุด

“การกดจุดสะท้อน” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “การกดจุด” ก็คือ การใช้นิ้วมือ หรือข้อต่อกระดูกนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ซึ่งเป็นนิ้วหลักที่ใช้มากที่สุด กดลงบนฝ่าเท้า บริเวณตำแหน่งที่ส่งผลสะท้อนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
“การกดจุด” ดูคล้ายกับ “การนวดคลึง” แตกต่างกันตรงที่ การกดจุดต้องกดลึกกว่า ต้องมีความแม่นยำในเรื่องตำแหน่งของจุดสะท้อนและทำไปในทิศทางที่ถูกต้อง มิฉะนั้น กล้ามเนื้อหรืออวัยวะที่ส่งผลสะท้อนจะเกิดปัญหาได้ และต้องเลือกการกดทางใดทางหนึ่ง เช่น กดจากขวาไปซ้าย หรือลากจากซ้ายมาขวา เพื่อป้องกันลมปราณสับสน มีผลเสียต่อร่างกาย

วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

ข้อตกลงว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพการนวดไทย พ.ศ.2534

อาศัยมติแห่งความร่วมใจของมวลหมอนวดไทย เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน เพื่อให้การประกอบวิชาชีพการนวดไทย ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลปะสาขาหนึ่งของการแพทย์ แผนไทย เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของประชาชนตลอดไปและเพื่อสร้างสรรค์ ทะนุบำรุงการนวดไทยให้เจริญก้าวหน้าและอยู่ในมาตรฐานที่ดี โครงการฟื้นฟูการนวดไทยได้จัดทำ ข้อตกลง ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพการนวดไทย ซึ่งเป็นข้อพึงปฏิบัติของหมอนวดไทยทั้งมวล ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. หมอนวดไทย จักต้องยึดถือสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยและประชาชนเป็นอันดับแรกเสมอ ต้องให้บริการแก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่คำนึงถึงฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง
ข้อ 2. หมอนวดไทย จักต้องยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพการนวดไทย มารยาทแห่งวิชาชีพการนวดไทย มารยาทแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กฎหมายบ้านเมืองไม่ประพฤติร่วมกระทำใด ๆ ให้เกิดความเสื่อมเสีย และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแก้ไข เมื่อได้ทราบว่ามีการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อการนวดไทย
ข้อ 3. หมอนวดไทย จักต้องหมั่นสำรวจ สรุปประสบการณ์การนวด ศึกษาติดตามความรู้และความก้าวหน้าของวิชาการนวดไทย ทั้งจากคัมภีร์ ตำรับตำราต่าง ๆ และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งเข้าร่วมเสริมความรู้ พัฒนา ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนและเผยแพร่วิชาความรู้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการประกอบวิชาชีพ ให้อยู่ในมาตรฐาน และสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
ข้อ 4. หมอนวดไทย จักต้องไม่หลอกลวง ไม่โลภ ไม่ล่วงเกิน หรือลวนลามผู้ป่วย ด้วย กาย วาจา ใจ ทางด้านกามารมณ์ และอื่นๆ
ข้อ 5. หมอนวดไทย จักต้อง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขทั้งปวง
ข้อ 6. หมอนวดไทย จักต้อง ไม่ประกอบวิชาชีพในสภาพที่ถูกบังคับ หรืออโคจรสถาน เช่น แหล่งอบายมุข สถานบริการ สถานเริงรมย์ ที่มีการกระทำอันเป็นการยั่วยุกามารมณ์ เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินเพื่อการปฐมพยาบาล
ข้อ 7. หมอนวดไทย จักต้องยกย่องให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ไม่โอ้อวดทับถมกัน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน และผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น ๆ เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยและประชาชนร่วมกัน
ข้อ 8. หมอนวดไทย จักต้องติดต่อประสานงาน สร้างความสามัคคีในหมู่เพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน และเพื่อนในวงการสาธารณะสุขทั้งมวล เพื่อร่วมกันทำประโยชน์แก่สังคมและสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทย
ข้อ 9. หมอนวดไทย จักต้องประสานร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิชาชีพการนวดไทยและการแพทย์แผนไทยให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งอุทิศเวลา ความรู้ความสามารถ และปัจจัยต่าง ๆ เพื่อช่วยกิจกรรมขององค์กรเท่าที่พึงกระทำได้

ผลที่ได้จากการนวดฝ่าเท้า

1. ปรับอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ
2. ขับของเสียออกจากร่างกาย
3. สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านทานโรค
4. กระตุ้นอวัยวะทุกส่วนทำงานปกติ
5. ทำให้สุขภาพแข็งแรงดูอ่อนกว่าวัย
6. ทำให้เลือดลมเดินปกติ
7. ปรับการทำงานของประสาทส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
8. ป้องกันโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต
9. ปรับฮอร์โมนของร่างกายให้เป็นปกติ
10. เสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ

ประวัติการนวดกดจุดสะท้อนเท้า

วิลเลี่ยม ฟิตช์เจอราลด์ (1872 – 1942) แพทย์ชาวอเมริกัน จัดทำรูปหล่อเท้าแสดงถึง สายสัมพันธ์ต่าง ๆ อันเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบันนี้
ดร.ฟิตช์เจอราลด์เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน หู คอ จมูก ในผลงานและคำบรรยาย ของเขา สนับสนุนแนวทางการรักษาที่ใช้กันในประเทศจีน อินเดีย และหมู่ชนเผ่าอินเดียแดง เมื่อห้าพันปีก่อน ในเวลานั้นพวกเขาเรียนรู้ว่า จุดใดบ้างบนเท้าที่สามารถนวดเฟ้น เพื่อผ่อนคลายอาการเจ็บปวดในร่างกายได้ กรรมวิธีเหล่านี้เป็นที่รู้จักในยุโรป เมื่อราวศตวรรษที่ 16
ราวต้นศตวรรษนี้ ดร.เอ็ดวิน อี.โบเวอร์ และดร.ฟิตช์เจอราลด์ร่วมกับเขียนหนังสือ “กายภาพบำบัด” ยูนิช อิงแฮมหมอนวดหญิง ผู้มาจากสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ยอมรับในความสมบูรณ์ของเทคนิคการนวด และนำมาขจัดความเข้าใจผิดที่เธอเคยกระทำมา ยามนวดเท้าเพื่อต้องการผลสืบเนื่องไปยังอวัยวะภายใน แฮมเน มาร์คาร์ท จากเยอรมันนี ซึ่งมาร่วมงานกับยูนิช อิงแฮม ในปี 1967 ได้ประกาศผลงานสำคัญอันมีชื่อเสียงโดดเด่น หนังสือของเธอชื่อว่า “การนวดเท้าเปรียบเสมือนการบำบัดสุขภาพ” ข้อเขียนของเธอได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของแพทย์
ล่าสุดโดรีน อี. บายเลย์จากอังกฤษ ได้รับคำชมเชยมากมายจากหนังสือของเธอ “วิชาว่าด้วยปฏิกิริยาในยุคปัจจุบัน” นับเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมาก สำหรับผู้ที่อยากศึกษาเรียนรู้วิชานี้ (แอสตริค ไอ.กูชมัน – เลคเจอร์ , 2537)
วิชาการนวดเท้าเพื่อการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีภาพเขียน ฝาผนังเกี่ยวกับการนวดเท้า ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในปิรามิดของอียิปต์โบราณ และที่อินเดียยังมีรอยพระพุทธบาท ที่จารึกภาพแสดงการนวดฝ่าเท้า
ที่ประเทศจีน ต้นตำรับตำราแพทย์จีน “หวางตี้เน่ยจิง” ซึ่งประพันธ์ขึ้นเมื่อประมาณ ห้าพันปีก่อน ได้กล่าวถึงการนวดเท้า โดยใช้คำว่า “กวานจื่อฝ่า” แปลตรงตัวว่า “วิธีสังเกตเท้า” สมัยราชวงศ์ถัง “จู้ซินเต้า” หรือ “เส้นทางฝ่าเท้า” นี้ได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับ วิชาฝังเข็ม และเป็นที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในประเทศจีน ด้วยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นานาประการและความเห็นแก่ตัว ของผู้รู้ จึงทำให้วิชากดนวดเท้าค่อย ๆ สูญหายไปจากประวัติการแพทย์ของจีน

เมื่อปี ค.ศ.1913 ดร.วิลเลี่ยม ฟิตช์เจอราลด์ (Dr. William Fitzgerald) นายแพทย์ชาวอเมริกันได้ใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำการค้นคว้าปรับปรุงทฤษฎีเกี่ยวกับ “การรักษาตามโซน” (Zone Therapy) แล้วทำการเผยแพร่ในวงการแพทย์ วิชานี้จึงค่อย ๆ ได้รับความสนใจ และเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ตะวันตก
เมื่อปี ค.ศ.1935 พยาบาลหญิงชาวสวิตเซอร์แลนด์ Hedi Masatret ซึ่งทำงานในเขตเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศจีนเป็นเวลานาน ได้ศึกษาและเรียนรู้วิชากดนวดเท้านี้ หลังจากกลับประเทศ ได้ประพันธ์ตำราเกี่ยวกับการกดนวดเขตสะท้อนที่เท้าเป็นภาษาเยอรมันชื่อ Gesund in die Zukunft (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ Good Health for the future) ทำการเผยแพร่พร้อมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมเป็นรุ่น ๆ เป็นผลให้วิธีการรักษาสุขภาพแบบนี้เผยแพร่เข้าสู่กลุ่มประเทศตะวันตก เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฮอลแลนด์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น
ต่อมาในปี ค.ศ.1977 โรคไขข้ออักเสบที่เกิดขึ้นกับบาทหลวงชาวสวิตเซอร์แลนด์ Fr. Josef Eugster (มีชื่อภาจีนว่า นายเอี๊ยกเจี๊ยะ แซ่โง้ว) มาหลายปี กลับหายอย่างง่าย ๆ ด้วยการกดนวดจุดที่เท้าแค่ 3 ครั้ง เป็นผลให้บาทหลวงท่านนี้สนใจและตั้งใจวิชานี้ หลังสำเร็จการศึกษาอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ได้ตระเวนไปยังประเทศต่าง ๆ ทำการเผยแพร่ และช่วยเหลือ ผู้เจ็บป่วยและด้วยจิตปณิธานที่ว่า “จะขอคืนมรดกของชาติจีนให้แก่ชาวจีนทุกคน” บาทหลวงผู้นี้จึงได้ร่วมกับวงการแพทย์แผนจีนที่ไต้หวัน โดยมีท่านเฉินเม่าสงและบุคคลอื่น ๆ จัดตั้ง “สถาบันวิจัยเพื่อสุขภาพแบบเยี๊ยกเจี๊ยะนานาชาติ” ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1982 เพื่อการอบรมเผยแพร่ ค้นคว้าพัฒนา และรับใช้สังคม ปัจจุบันสถาบันฯ ได้จัดตั้งสาขา อยู่ตามประเทศต่าง ๆ รวมสี่สิบกว่าประเทศ และเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.2000 ได้ประกาศจัดตั้งสาขาในประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นทางการที่จังหวัดชลบุรี (สุเชาว์,2543)
การนวดฝ่าเท้า เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของจีน มีมาแต่โบราณและเก่าแก่มากกว่า 5 พันปี ตั้งแต่องค์จักรพรรดิหวงตี้ปกครองแผ่นดินจีน และมีบันทึกไว้ในหนังสือวังต้องห้ามของยุคนั้น
ในราชวงศ์ฮั่น (ประมาณ 2 พันกว่าปี นับย้อนจากปัจจุบัน) การแพทย์ของจีนรุ่งเรืองมาก ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับฝ่าเท้าไว้มากมาย และเป็นที่นิยมกันมาก เพราะบรรเทาโรคภัยได้ง่าย ประหยัดและรวดเร็ว ชนทุกหมู่เหล่าสามารถรักษาได้ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
เมื่อถึงราชวงศ์ถัง การแพทย์ของจีนได้มีการพัฒนาการรักษา โดยวิธีการแทงเข็มและรมยา แทนการนวดรักษา ต่อมาความรู้แขนงนี้ก็ได้เข้าไปเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่นและในราชวงศ์หยวน ก็มีการแต่งตำราเกี่ยวกับเรื่องฝ่าเท้าไว้ถึง 14 เล่ม การแพทย์ของจีนก็เจริญสืบทอดกันมา
จนกระทั่งมาถึงราชวงศ์แมนจู ช่วงปลายราชวงศ์ได้มีประเทศมหาอำนาจเข้าปกครองประเทศ วิชาการแพทย์ของจีนส่วนหนึ่งจึงหลั่งไหลสู่ต่างแดน แต่ก็มีผู้รอบรู้บางคน มีความเห็นแก่ตัวไม่ยอมบันทึกหรือถ่ายทอดให้แก่ใคร วิชาการแพทย์ของจีนซึ่งรวมถึง การกดจุดฝ่าเท้าจึงค่อย ๆ สูญหายไปจากประวัติศาสตร์ของจีน
ในปัจจุบันอาจารย์สมบูรณ์ รุ่งโรจน์สกุลพร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิ พัฒนาศาสตร์การนวดกดจุดสะท้อนเท้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาสมาคมแพทย์แผนไทย แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาอนุกรรมการการพาณิชย์รัฐสภา ที่ปรึกษาเลขาธิการรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพานิชย์ สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก (ประเทศไทย) และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในศาสตร์ ของการนวดกดจุดสะท้อนเท้าในประเทศไทย ได้กล่าวถึงความเป็นมา ของการนวดกดจุดสะท้อนเท้าที่เข้ามาในประเทศไทย โดยเล่าว่า สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2531 ได้ไปศึกษาศาสตร์นี้จากประเทศมาเลเซีย (The Instute of Reflexology, Ipoh, Perak, Malaysia) แล้วนำกลับมายังประเทศไทยแล้วได้นำมาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์กว่าหมื่นคน โดยได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพิ่มเติมจากหลายสถาบัน จนในปัจจุบันได้เปิดเป็นโรงเรียนสอน ให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปและผู้สนใจ และดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย จนได้รับโล่เกียรติคุณอนุญาตให้ “เผยแพร่ศาสตร์การนวดกดจุดสะท้อนเท้าในประเทศไทย” จากสถาบัน Reflexology, Ipoh, Perak, Malaysia (พ.ศ. 2544) ได้รับมอบโล่เกียรติคุณ จากสถาบัน Reflexology, Ipoh, Perak, Malaysia (พ.ศ.2546) ในฐานะครูผู้เผยแพร่ศาสตร์ การนวดกดจุดสะท้อนเท้าแก่ศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ จำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ได้รับมอบโล่เกียรติคุณในฐานะเป็น “ครูต้นแบบการกดจุดสะท้อนเท้าดีเด่น” จากกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย (พ.ศ. 2544) ได้รับมอบโล่เกียรติคุณในฐานะเป็นผู้พัฒนาศาสตร์การนวดกดจุดสะท้อนเท้าดีเด่น (พ.ศ. 2547) จากสมาคมเภสัชและอายุรเวชแผนโบราณ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2547 อาจารย์สมบูรณ์ได้พบกับรองนายกสถาบันวิจัยเพื่อสุขภาพแบบเยี๊ยกเจี๊ยกนานาชาติ และได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านศาสตร์การนวดกดจุดสะท้อนเท้ายิ่งไปกว่านั้นยังได้รับคำชมจากรองนายกฯ ว่าสามารถบูรณาการศาสตร์เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้นและอย่างมีมาตรฐาน ด้วยเหตุผลนี้เองท่านรองนายกฯจากประเทศไต้หวันจึงได้เสนอชื่ออาจารย์สมบูรณ์ และศาสตร์ของการนวดกดจุดสะท้อนเท้าของอาจารย์ให้เป็นสมาชิกลำดับที่ 58 ของสถาบันวิจัยเพื่อสุขภาพแบบเยี๊ยกเจี๊ยกนานาชาติ

นวดกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า

หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น
“นวดกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า”

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้มีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า
2. เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย
3. เพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ และเชี่ยวชาญในการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า
4. เพื่อให้รู้ศาสตร์และศิลป์ของการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้าและนำไปใช้ประโยชน์ต่อบุคคลและชุมชน
5. เพื่อให้เห็นคุณค่าและเจตคติที่ดีต่อการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า
6. เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยสืบต่อไป
คำอธิบายรายวิชา
ทฤษฎี ศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า อวัยวะภายในร่างกายและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ วิธีการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า หลังเท้า เท้าด้านใน เท้าด้านนอก การนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า บริเวณฝ่าเท้า หลังเท้า เท้าด้านใน เท้าด้านนอก ผลที่ได้จากการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า ข้อควรปฏิบัติของผู้รับการนวดกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า การวอร์ม การหุ้มเท้าด้วยผ้า
ปฏิบัติ
ลำดับขั้นตอนการฝึกปฏิบัติการกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า
1. การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้าย
1.1 การวอร์มเท้าซ้าย (Warm up)
1.2 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้าย
1.3 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้ายบริเวณหลังเท้าซ้าย
1.4 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้ายบริเวณเท้าด้านใน
1.5 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้ายบริเวณด้านนอก
1.6 การวอร์มเท้าซ้าย (Warm drown)
1.7 การหุ้มเท้าด้วยผ้าเท้าซ้าย
2. การนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้าย
2.1 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้ายบริเวณฝ่าเท้า
2.2 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้ายบริเวณหลังเท้า
2.3 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้ายบริเวณด้านใน
2.4 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าซ้ายบริเวณเท้าด้านนอก
3. การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวา
3.1 การวอร์มเท้าขวา (Warm up)
3.2 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวา
3.3 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวาบริเวณหลังเท้าขวา
3.4 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวาบริเวณเท้าด้านใน
3.5 การกดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวาบริเวณเท้าด้านนอก
3.6 การวอร์มเท้าขวา
3.7 การหุ้มเท้าด้วยผ้าเท้าขวา (Warm drown)
4. การนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวา
4.1 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวาบริเวณฝ่าเท้า
4.2 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวาบริเวณหลังเท้า
4.3 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวาบริเวณด้านใน
4.4 วิธีการนวดจุดสะท้อนบนฝ่าเท้า เท้าขวาบริเวณเท้าด้านนอก
5. การหุ้มเท้าด้วยผ้า
5.1 วิธีการหุ้มเท้าด้วยผ้า